ปัจจุบันมะม่วงหิมพานต์พบได้ทั่วไปในภูมิภาคเขตร้อน เพราะเติบโตได้อย่างเหมาะสมในสภาพอากาศที่ชื้น และอบอุ่น ทั้งในเอเชีย และอเมริกาใต้ นิยมใช้เนื้อภายในเมล็ดเป็นอาหารว่าง และยังเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกของอินเดีย เวียดนาม และบราซิล ทั้งสามประเทศนี้ มีอัตราการส่งออกถึง 90% ของผลิตภัณฑ์เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ทั่วโลก
ส่วนผลมะม่วงหิมพานต์นั้นเนื้อนิ่ม ฉ่ำน้ำ แต่มีรสเปรี้ยว รับประทานได้ทั้งดิบและสุก ทางภาคใต้ของไทย นิยมนำผลห่ามแกงส้ม ออกรสเปรี้ยว ส่วนผลดิบ รับประทานกับเกลือเป็นของกินเล่น บางครั้งออกรสฝาดเล็กน้อย ส่วนผลสุกสามารถนำไปหมักเป็นไวน์ น้ำส้มสายชู หรือเครื่องดื่มอื่นๆ ได้ ผลมะม่วงหิมพานต์มีส่วนประกอยของแทนนินมาก และเน่าเสียเร็วมาก ด้วยเหตุนี้ โดยทั่วไปจึงมักจะทิ้งผลเทียม หลังจากเก็บเมล็ดออก
ส่วน urushiol นั้น จะต้องนำออกจากเปลือกเมล็ดสีเขียวเข้มก่อนที่จะรับประทานเนื้อสีขาวนวลข้างใน ยางจากเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์นี้ในอินเดีย ควาญช้างนำมาใช้เพื่อคุมช้างให้เชื่อง
เมล็ดมะม่วงหิมพานต์นับเป็นส่วนประกอบอาหารหลายชนิดในเอเชีย อาจบดให้ป่น เป็นเนยเมล็ดมะม่วงสำหรับใช้ทาขนมปังแบบเดียวกับเนยถั่วก็ได้ เมล็ดมะม่วงนี้มีน้ำมันพืชสูงมาก มีการนำไปใช้ในเนยถั่วอื่นๆ บาง ชนิด เพื่อเพิ่มน้ำมันพิเศษ เมล็ดมะม่วงบรรจุหีบห่อที่พบในสหรัฐอเมริกา ปริมาณ 30 กรัม มีพลังงาน 180 แคลอรี (750 กิโลจูล) โดยมีไขมัน 70% เม็ดมะม่วงหิมพานต์สดได้จากการกะเทาะเปลือกของผลแก่ออก นำไปปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่นใส่ในแกง แกงไตปลา แกงส้ม นำไปอบแล้วผัดกับน้ำตาลปี๊บเคี่ยว กินเป็นของหวาน เช่นหัวครกฉาบ ของเหลวที่มีอยู่ในเปลือก ที่หุ้มเนื้อข้างใน เรียกว่า Cashew Nut Shell Liquid (CNSL) มีประโยชน์หลายประการในด้านอุตสาหกรรม ซึ่งมีการพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกในราวทศวรรษ 1930 ของเหลวชนิด CNSL นี้ถูกนำไปผ่านกระบวนการคล้ายการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม โดยได้ผลผลิตเบื้องต้นสองอย่าง นั่นคือ ของแข็งบดละเอียด ใช้หุ้มเบรก และของเหลวสีอำพัน ที่ใช้เพื่อสร้างตัวทำให้แข็งแบบฟีนอลคามีน (phenalkamine) และตัวปรับปรุงคุณภาพเรซิน สารฟีนอลคามีนนั้นเดิมใช้ในการเคลือบอีพอกซีสำหรับตลาดผลิตภัณฑ์ปูพื้นและเกี่ยวกับการเดินเรือ เนื่องจากมีคุณสมบัติที่มีไฮโดรโฟบิกเข้มข้น และสามารถมีปฏิกิริยาเคมีได้ดีที่อุณหภูมิต่ำ