มะม่วงหิมพานต์ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Anacardium occidentale) เป็นไม้ดอกยืนต้น ในวงศ์ Anacardiaceae กลุ่มเดียวกับมะม่วง (mango) และถั่วพิสตาชีโอ มะม่วงหิมพานต์เป็นพืชพื้นเมืองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล ซึ่งเรียกเป็นภาษาโปรตุเกสว่า “กาฌู” (caju – ผล) หรือ “กาฌูเอย์รู” (cajueiro – ต้น) ปัจจุบันเติบโตแพร่หลายทั่วไปในภูมิภาคเขตร้อน เพื่อใช้ประโยชน์จากเมล็ด และผล นำเข้ามาปลูกครั้งแรกที่ภาคใต้ของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2444 โดยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) เป็นพืชที่มีคุณค่าทางสารอาหารสูง ประกอบด้วยโปรตีนที่ย่อยง่าย ไขมันที่ส่วนใหญ่เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว (เมื่อบริโภคเข้าไปจะไม่เพิ่มไขมันในเส้นเลือด) คาร์โบไฮเดรต วิตามินเอ, บี, อี และเกลือแร่ แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก
มะม่วงหิมพานต์เป็นไม้ไม่ผลัดใบ ลำต้นมีความสูง 10-12 เมตร ต้นเตี้ย สยายกิ่งก้านไม่สม่ำเสมอ ใบจัดเรียงเป็นแบบเกลียว ผิวมันลื่น รูปโค้งจนถึงรูปไข่ ความยาว 4-22 เซนติเมตร และกว้าง 2-15 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ ส่วนดอกนั้นเกิดจาก ที่ยาวถึง 26 เซนติเมตร แต่ละดอกตอนแรกมีสีเขียวซีด จากนั้นสีสดเป็นแดงจัด มี 5 กลีบ ปลายแหลม เรียว ยาว 7-15 มิลลิเมตร
ส่วนที่จะปรากฏไปเป็นผลของมะม่วงหิมพานต์นั้น ก็คือ ผลวิสามัญ (accessory fruit) รูปไข่หรือรูปลูกแพร์ ซึ่งจะเติบโตจากฐานดอกขึ้นมา ผลมะม่วงหิมพานต์นี้มีชื่อเรียกในแถบอเมริกากลางว่า “มารัญญอน” (marañón) เมื่อสุกจะมีสีเหลืองหรือส้มแดง มีความยาวประมาณ 5-11 เซนติเมตร
ผลแท้ของมะม่วงหิมพานต์นั้นเป็นผลเมล็ดเดียว รูปไต หรือรูปนวมนักมวย งอกออกจากปลายของผลเทียม ก้านดอกจะขยายตัวออกมาเป็นผลเทียม ภายในผลแท้นั้น เป็นเมล็ดเดี่ยว แม้ว่าโดยทั่วไปจะมองว่าส่วนเนื้อขาวนวลนั้นเป็นผลที่มีเปลือกแข็ง (nut) แต่ในทางพฤกษศาสตร์ถือว่า เป็นเมล็ด (seed) อย่างไรก็ตาม ส่วนของผลแท้นั้น นักพฤกษศาสตร์บางท่านถือว่าเป็นผลที่มีเปลือกแข็งก็มี เมล็ดนั้นห่อหุ้มด้วยเปลือกสองชั้น ประกอบด้วยยางฟีโนลิก (caustic phenolic resin) น้ำมัน urushiol, พิษที่ระคายเคืองต่อผิวหนังอย่างรุนแรง บางคนแพ้มะม่วงหิมพานต์ แต่ปกติถือว่าก่อให้เกิดอาการแพ้น้อยกว่าผลเปลือกแข็งชนิดอื่นๆ
ในประเทศไทย มะม่วงหิมพานต์พบได้ทั่วไปในภาคใต้ และมีชื่อเรียกตามสำเนียงภาษาถิ่นใต้แตกต่างกันไป เช่น กาหยู กาหยี (เข้าใจว่าเป็นคำยืมจากภาษามลายู ซึ่งยืมจากภาษาโปรตุเกสอีกทอดหนึ่ง) เม็ดล่อ ยาร่วง หัวครก ยาโห้ย เป็นต้น
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี